“พ้นภัย” อาวุธลับ ร่วม อสม. และ อสต. สู้โควิด-19

พ้นภัย” อาวุธลับ ร่วม อสม. และ อสต. สู้โควิด-19

          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จึงทำให้แต่ละประเทศมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เช่น ประเทศจีนยกเลิกเที่ยวบินเข้า-ออกประเทศ และกักโรคแบบจริงจัง มีการใช้เทคโนโลยี “Health QR Code” สแกนว่ากักตัวไปกี่วันแล้ว ประเทศสิงคโปร์ จัดตั้งศูนย์กลางการสื่อสารส่งข้อมูลอัพเดทให้ประชาชนทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื่อ พื้นที่เสี่ยง หรือมาตรการ Work From Home ในประเทศเกาหลี ได้คิดค้นเครื่องตรวจเชื้อที่สามารถตรวจสอบได้ถึงวันละกว่าหนึ่งหมื่นคน เป็นต้น

          สำหรับสถานการณ์ในประเทศไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกันผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องเฝ้าระวังเดินทางมาจากพื้นที่กลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณะสุขก็ต้องกักตัวเองในระยะเวลา 14 วันตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่เชื้อที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย

          มาตรการอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการกระจายการป้องกันออกไปอย่างทั่วถึงในชุมชนต่าง ๆ คือ การที่ประเทศไทยมีเครือข่ายกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1,040,000 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) กว่า 4,000 คน ที่ผ่านการฝึกอบรม ทำหน้าที่ตรวจสอบดูแล
มีการลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเพื่อค้นหาคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ซึ่งวิธีการนี้ได้รับความชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในด้านการเสียสละทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ส่งผลทำให้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในต่างจังหวัดลดลงอย่างต่อเนื่อง

          โดยข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับจะถูกส่งต่อไปยังสภากาชาดไทยเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่เชื้อ อีกทั้งยังมีการสนับสนุนชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤตโควิด-19 ให้แก่ ผู้ถูกกักกันโรคที่มีฐานะยากจน เดือดร้อน ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค จากสถานการณ์ความเดือนร้อนนี้สภากาชาดไทยได้มีการจัดทำ “อาวุธลับ” เพื่อเป็นช่องทางรับข้อมูล ข่าวสารปัจจุบันในการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่เดือนร้อนได้อย่างทั่วถึง และทันท่วงที อาวุธลับที่ว่านี้คือ แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยสภากาชาดไทย ได้รับการสนับสนุนจาก USAID/OFDA และ IFRC ร่วมกับบริษัท อินฟรา พลัส จำกัด เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและมีการนำเทคโนโลยีด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS มาประยุกต์ใช้ในด้านการจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management) ของประเทศไทย และ บริษัท เมตามีเดีย เทคโนโลยี จำกัด ที่ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” โดยได้รับความร่วมมือเชิงวิชาการกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาด้านการจัดาการภัยพิบัติ รวมถึงการบูรณาการข้อมูลร่วมกันหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ อีกมากมาย

          รศ.ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการและที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบพ้นภัย กล่าวว่า แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ถือได้ว่าเป็นนวัตดรรมของเครื่องมือการสื่อสารบริหารส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องกับงานบรรเทาทุกข์และบรรเทาสาธารณภัย ระหว่างส่วนราชการข้ามสายงาน ตั้งแต่ สภากาชาดไทยส่วนกลาง กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ประสานกับเหล่ากาชาดจังหวัดเชื่อมต่อผ่านนายอำเภอ กำนันในระดับตำบล ลงไปถึงพื้นที่ประสบภัยพิบัติในหน่วยย่อยสุด คือหมู่บ้าน หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล

 

  

         

          เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกหนังสือถึงแกนนำ อสม. กว่า 80,000 คน ให้ใช้แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” เป็นเครื่องมือในการขอสนับสนุนชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤตโควิด-19 ให้แก่ผู้กักตนเอง ที่มีฐานะยากจน เดือดร้อน และขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค โดยบูรณาการร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วภายใน 24 ชม. สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับความช่วยเหลือภายใน 48 ชม. โดยมีหลักประกันที่ว่ากลุ่มผู้กักตนเอง ที่อยู่บ้านและเดือดร้อน และขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคทุกคนจะต้องมีกินตอนถูกกักตัว

          ด้วยเหตุแห่งการช่วยเหลือนี้ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัด ดำเนินการสำรวจและคัดกรองแจ้งผู้กักตัวเองที่เดือดร้อนผ่านแอปพลิชัน “พ้นภัย” มายังสภากาชาดไทย โดยการช่วยเหลือนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้กักกันตนเองที่ขาดแคลนอาหาร และยังไม่มีหน่วยงานอื่นให้ความช่วยเหลือซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ 56 จังหวัด รวมชุดธารน้ำใจเป็นจำนวน 81,712 ชุด มีมูลค่ากว่า 53,929,920 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 27 เมษายน 2563)

 

11 พฤษภาคม 2563

ผู้ชม 1715 ครั้ง

Engine by shopup.com