เกี่ยวกับเรา

ความเป็นมา


งานโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ โดยเป็นโครงสร้างซึ่งรองรับชุมชน หรือความเจริญของชุมชน อาทิ เช่น ที่อยู่อาศัย ระบบคมนาคม การสื่อสารหรือโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้าและประปา เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการก่อสร้างในเขตชุมชนเท่านั้น ตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว เช่น เขื่อน ระบบขนส่ง (ถนน ทางรถไฟ) ระบบป้องกันอุทกภัย ระบบชลประทาน ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า หรือ พลังงาน เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจให้คงดำรงอยู่ได้

ปัจจุบันมีการขยายตัวของงานโครงสร้างพื้นฐานอันเนื่องจากความต้องการในการใช้งานและความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวในรูปแบบของการลงทุนก่อสร้างในโครงการใหม่ หรือการบำรุง ซ่อมแซมระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งงานโครงสร้างพื้นฐาน มักเป็นโครงการที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ได้แก่ เงินลงทุน บุคลากรที่มีความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญ ระยะเวลาในการศึกษาออกแบบ และการศึกษาการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในการดำเนินงานเป็นต้น และเนื่องจากงานโครงสร้างพื้นฐานมักมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ภาวะจิตใจและความรู้สึกผู้คนที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นจะต้องใช้ความรอบคอบ และเวลาในการกำหนดนโยบายรัฐในการวางแผน กลั่นกรองถึงข้อดี-ข้อเสีย เพื่อการตัดสินใจในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นลำดับขั้นตอน และเพื่อเป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยรวม ดังนั้นการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการด้านสังคม และดำเนินงานอย่างถูกต้อง คุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์

จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็นต่อประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างเช่น ประเทศไทย ซึ่งนับจะทวีความสำคัญขึ้น อย่างไรก็ตาม การวางแผน ดำเนินการหรือบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยทั้งที่ผ่านมาและปัจจุบัน ยังมีปัญหาและอุปสรรค ส่งผลให้ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงานไม่ได้ตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นไปด้วยความล่าช้า โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบในแง่มุมต่างๆ หลายด้าน เช่น ผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต และปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การพัฒนาและปรับปรุงระบบงานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความทันสมัย มีความทัดเทียมและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการศึกษา และพัฒนาการบริหารและจัดการงานโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ โดยการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงาน การนำเอาเทคโนโลยี และวิทยาการก่อสร้างใหม่ๆมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต และประสิทธิภาพของงานก่อสร้าง โดยเฉพาะในงานโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของภาครัฐ ซึ่งมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมากในการก่อสร้างและบริหารจัดการ ให้มีความกระชับและมีคุณภาพ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเชิงวิชาการที่จะเป็นรากฐานของความรู้ด้านวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐาน อันจะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำหนดการพัฒนางานก่อสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพ ดังนั้นความรู้ในเชิงการวิจัยจึงเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในเชิงวิชาการ และการนำไปใช้งาน ปัจจุบันหลายหน่วยงาน รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ และวิจัยในด้านการก่อสร้างพื้นฐาน โดยมีการเรียนการสอน การพัฒนาวิชาการในสาขาวิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ภาควิชาวิศวกรรมโยธา แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ความชำนาญในด้านโครงสร้างพื้นฐานยังปรากฏอยู่ในสหสาขาอื่นๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์ ฯลฯ

ดังนั้น กลุ่มบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบโครงสร้างพื้นฐาน ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นที่จะผลิตผลงานที่มีคุณภาพ จึงได้รวมตัวกันเพื่อร่วมกันก่อตั้งศูนย์วิจัยที่ให้บริการงานที่ปรึกษาภายใต้ชื่อ หน่วยปฏิบัติการวิจัยการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Management Research Unit) เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการวิจัยและบริการวิชาการแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน และเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ สืบต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของศูนย์เชี่ยวชาญฯ

 

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานก่อตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. พัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ผ่านการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)

2. ให้บริการวิชาการให้กับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีระบบการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับวัฒนธรรมและข้อจำกัดขององค์กร

3. ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นิสิต นักศึกษา วิศวกรและบุคคลทั่วไป ผ่านการเรียนการสอน สิ่งตีพิมพ์ การอบรม และสัมมนา

4. สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สนับสนุนการวิจัย และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน

 

เป้าหมายของศูนย์เชี่ยวชาญฯ

 

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานได้กำหนดเป้าหมายหลักเพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานดังนี้

1. เกิดผลงานการศึกษาวิจัย นวัตกรรม ซอฟต์แวร์ และองค์ความรู้ทางด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

2. ได้รับมอบหมายในการให้บริการทางวิชาการแก่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง อย่างสม่ำเสมอ

3. สร้างและพัฒนาบุคลากร และนิสิตนักศึกษา ให้มีความรู้และความสามารถในด้านระบบการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน

4. มีความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน

 


17 มีนาคม 2563

ผู้ชม 3550 ครั้ง

Engine by shopup.com